“เอพี”สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่”INCLUSIVE GROWTH” เปิด 58 โครงการ 7.7 หมื่นล.ปี”66

แม้ว่าปี 2566 จะเป็นปีที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดี หลายธุรกิจเริ่มขยับตัว ถึงแม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบด้านต่างๆ ทำให้มีทั้งโอกาสทางธุรกิจ และปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามเกิดขึ้นในต่างประเทศต่างๆ แนวโน้มราคาพลังงาน และราคาโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น  กดดันให้ต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ปัจจัยบวกในเรื่องการท่องเที่ยวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงไม่แปลกที่จะเห็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับท็อปไฟว์ ต่างประกาศเปิดตัวโครงการใหม่กันแบบดุเดือด โดยเฉพาะ “เอพี”  วางแผนเปิดตัวโครงการแบบดุดดัน ปี 2566 จะเปิดทั้งหมด 58 โครงการ มูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาท สูงที่สุดในตลาดอสังหาฯ

“วิทการ จันทวิมล” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บมจ.เอพี ไทยแลนด์ ฉายภาพถึงธุรกิจอสังหาฯ ถ้าดูจากกราฟการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีที่ผ่านมา ที่เริ่มปรับตัวเป็นขาขึ้น ปี 2565 บริษัทเปิดตัวไป 51 โครงการ มูลค่ารวม 63,600 ล้านบาท ทำยอดขาย 50,415 ล้านบาท และคาดว่าจะปิดยอดโอนที่ 48,000 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดและสูงกว่าช่วงปี 2562 (ก่อนโควิด-19) จากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนได้ถึงภาพตลาดที่เริ่มฟื้นตัวกลับมา จึงมั่นใจว่าตลาดอสังหาฯปีนี้ น่าจะสดใสและขับเคลื่อนไปต่อ

ปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 2566  ก็คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีการเจริญเติบโตในทุกๆกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียม และธุรกิจบ้านเดี่ยวที่มีการเปิดตัวมากก่อนช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19

ดังนั้น ในปี 2566 เอพี วางเป้าหมายจะทำสถิติเติบโตต่อเนื่องในทุกด้าน   โดยวางเป้าหมายเปิดตัว 58 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 77,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21% YoY) เป้าหมายยอดขาย 58,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 15% YoY)เป้ารายได้รวม 100% (JV) ที่ 57,500 ล้านบาท  

แผนการเปิดตัวโครงการแบ่งออกเป็นดังนี้

– บ้านเดี่ยว 22 โครงการ 34,800 ล้านบาท ทาวน์โฮม 27 โครงการ 26,400 ล้านบาท

-ทาวน์โฮมจำนวน 27 โครงการ มูลค่า 26,400 ล้านบาท

-คอนโดมิเนียม 4 โครงการ 11,800 ล้านบาท

-ต่างจังหวัด 5 โครงการ 4,000 ล้านบาท เป็นโครงการแนวราบทั้งหมด จะเปิดเพิ่มใน 3 จังหวัดใหม่ คือ นครปฐม อุบลราชธานี และสุราษฎร์ธานี

โดยได้เตรียมงบลงทุนซื้อที่ดินไว้ประมาณ 20,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับปี 2565           

“ปีนี้เอพี ยังคงเน้นตลาดแนวราบเป็นหลัก และจะมีการรุกช่องว่างเซ็กเมนต์หรือโปรดักส์ที่บริษัทไม่เคยพัฒนา เช่น บ้านเดี่ยวหรูราคาแตะ 100 ล้านบาท แผนเปิดโครงการส่งผลให้ทั้งปี เอพี จะมีโครงการพร้อมขายทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมากกว่าถึง 192โครงการ มูลค่ากว่า 165,600 ล้าน”วิทการกล่าว

สำหรั ปี 2566 จะมีการขยายไปในตลาดใหม่อีก เช่น บ้านเดี่ยวในกลุ่มลักชัวรีจนถึงซูเปอร์ลักชัวรี จะบุกด้วยแบรนด์ “บ้านกลางกรุง” เป็นบ้านเดี่ยว 4-5 ชั้น ทำเลในเมือง ราคา 30-50 ล้านบาท และ “เดอะ พาลาซโซ” บ้านเดี่ยวหลังใหญ่ ราคา 70-100 ล้านบาท THE CITY จรัญ-ปิ่นเกล้า บ้านโมเดล ขนาดที่ดิน 100 ตารางวา  ราคาขาย 25-40 ล้านบาท ปีนี้จึงเป็นปีที่เอพีจะขยับเข้าไปในตลาดหรูมากยิ่งขึ้น

 นอกจากนี้ เอพีจะยิ่งรุกหนักมากขึ้นคือ “บ้านแฝด” ซึ่งจะทำตลาดด้วยสองแบรนด์ คือ “แกรนด์ พลีโน่” บ้านแฝด 2 ชั้น ราคา 6-8 ล้านบาท และ “บ้านกลางเมือง THE EDITION” บ้านแฝด 3 ชั้น ราคา 8-12 ล้านบาท เป็นกลุ่มตลาดที่ผู้เล่นมีน้อยราย ขณะที่ดีมานด์ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก

มองตลาด“คอนโดฯ” ฟื้นเปิด 4 โครงการกว่า 1.1 หมื่นล้าน

ตลาดคอนโดฯในปีนี้ น่าจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงกับปีก่อนเผชิญโควิด-19 ซึ่งหากดูจากยอดขายคอนโดฯเครือเอพีในปีที่ผ่านมา เติบโตที่เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า หรือคิดเป็น 11,440 ล้านบาท โดยในปีนี้กลุ่มธุรกิจคอนโดฯเตรียมเปิดตัว 4 คอนโดฯใหม่ (ร่วมทุน 2 โครงการ และลงทุนเอง 2 โครงการ) มูลค่ารวม 11,800 ล้านบาท   ได้แก่โครงการ 1.ไลฟ์ พหล-ลาดพร้าว (JV) มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท จำนวน 598 ยูนิต เปิดพรีเซลเดือนมิถุนายนนี้ โดยเป็นคอนโด เริ่มก่อสร้างก่อนขาย ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้า 45% 2.ริธึ่ม อยู่ตรงข้ามไอคอนสยาม (JV) มูลค่าโครงการ 4,500 ล้านบาท จำนวน 584 ยูนิต 3.แอสไปร์ วิภา-วิคตอรี มูลค่าโครงการ 2,300 ล้านบาท จำนวน 593 ยูนิต และ 4.แอสไปร์ เกษตร-พหล 49 มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท จำนวน 622 ยูนิต  นอกจากนั้น ในปีนี้กลุ่มธุรกิจคอนโดเตรียมส่งมอบ 4 คอนโดพร้อมอยู่ มูลค่ารวมกว่า 16,200 ล้านบาท.

“เอพี” ค้นหาช่องว่างตลาดปั้นธุรกิจใหม่

สำหรับกลยุทธ์ในระยะยาวของบริษัทคือ “Hatch the New Business”ต่อยอดความชำนาญในธุรกิจอสังหาฯ ด้วยการค้นหาช่องว่างตลาดใหม่ โดยจะนำทรัพยากรในบริษัท ไปบ่มฟักนักคิด สร้างสรรค์รุ่นใหม่ๆ เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ สามารถนำกลับมาสนับสนุนธุรกิจในระยะยาว โดยคอนเซปต์การหาธุรกิจใหม่ของเอพีจะต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิมนั่นคือ “การอยู่อาศัย” เพื่อให้เป็นการต่อยอดซึ่งกันและกันหรือเพื่อส่งเสริมธุรกิจอื่นๆ ในเครือ อย่าง สมาร์ท เซอร์วิส แอนด์ แมเนจเมนท์ (SMART) หรือบางกอก ซิตี้สมาร์ท (BC) พร็อพเพอร์ตี้โบรกเกอร์แบบครบวงจร  

โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่อย่างแรก คือ “FitFriend” เทรนเนอร์เดลิเวอร์รี่ เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมและจองเทรนเนอร์เดลิเวอรีไปสอนส่วนตัวให้ที่บ้าน ซึ่งตอบโจทย์ในช่วงโควิด-19 ที่คนไม่นิยมเข้าฟิตเนส และมีเทรนเนอร์ในระบบมากกว่า 100 คน มีคนใช้บริการมากกว่า 6,000 คลาส  โดยทำยอดขายเฉลี่ย 8 แสนบาทต่อเดือน เป้าหมายปีนี้ต้องการผลักดันยอดขายไปถึง 1-1.5 ล้านบาทต่อเดือน และจะเริ่มทำกำไรสะสมได้ทันทีเพราะต้นทุนไม่สูง รวมถึงจะมีการผลักดันธุรกิจอื่นๆ ออกมาอีก โดยมีเป้าหมาย 5 ปีจากนี้ ธุรกิจใหม่น่าจะทำรายได้ได้ 300-500 ล้านบาท

About Kansuchaya Suvanakorn

ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจมาเกือบ 30 ปี

View all posts by Kansuchaya Suvanakorn →

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *