ซีแพนเนล ทุ่มงบ300ล้านสร้างโรงงานแห่งที่2 รับการลงทุน-กำลังซื้อจีน ญีปุ่น ใต้หวันเปิดประเทศ

ซีแพนเนล กางแผนปี 2566 มุ่งขยายฐานลูกค้าอสังหาฯ หัวเมืองใหญ่ โรงแรม นิคมฯ ทุ่มงบ 300 ล้านบาทลงทุน สร้างโรงงานแห่งที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตเท่าตัว ตั้งเป้าหมายรายได้ เติบโต 10-15% เผยภาพรวมอสังหาฯ-ท่องเที่ยวคึกคัก หนุนกำลังซื้อ ความต้องการที่ถูกอั้นไว้ กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ลูกค้าจ่อคิวเซ็นสัญญาแล้วมูลค่า 200 ล้านบาท


นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจในปี2566 บริษัทมุ่งเน้นกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งแผนขยายฐานลูกค้าภาคอสังหาริมทรัพย์ หัวเมืองใหญ่ ทั้งแนวราบ แนวสูง อาทิ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงลูกค้ากลุ่มโรงแรม และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ และภาคท่องเที่ยว
ขณะที่ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ มีสัญญาณที่ดี จำนวนบ้านจัดสรรก่อสร้างใหม่ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑลยังคงเติบโต โดยเฉพาะบ้านระดับกลาง-บน ส่วนคอนโดมิเนียมคาดว่าจะได้รับอานิสงส์อย่างมากจากการที่จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน กลับมาเปิดประเทศแล้ว

ชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน)


อีกทั้ง ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศ เมียนมาร์ ไต้หวัน และ ยุโรปบางประเทศ สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่จะเป็นบ้านหลังที่สอง (Second Home) การกระจายฐานการผลิต และ การลงทุน เนื่องจากประเทศไทยค่อนข้างมีความเป็นกลางในเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้มีประชากรในพื้นที่ EEC เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา มีอัตราการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯ จาก 12% เพิ่มเป็น 15 % และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่ประเทศไทยได้รับปัจจัยเชิงบวกจากจีนค่อนข้างมากโดยเฉพาะภาคอสังหาฯ และการท่องเที่ยว ประกอบกับความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent Up Demand) จากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อาจส่งผลให้การแข่งขันของผู้ประกอบการอสังหาฯ สูงขึ้น โดยต้องการความรวดเร็วในการส่งมอบงานได้ทันเวลา ลดต้นทุนการก่อสร้าง ลดจำนวนแรงงาน อีกทั้งสามารถรักษาเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ในการดำเนินงาน ซึ่ง ผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ดี และเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะผลักดันให้ผลประกอบการปี 2566 เติบโตได้ตามแผนที่วางไว้” นายชาคริต กล่าว


ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด บริษัทได้ใช้เงินลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม 30 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิต อีก 25% ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2566 และจะส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 900,000 ตารางเมตรต่อปี จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 792,000 ตารางเมตรต่อปี นอกจากนี้ บริษัทได้วางงบลงทุนอีก 500 ล้านบาท ใช้ลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้ และจะแล้วเสร็จเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 โดยกำลังการผลิตโรงงานแห่งที่ 2 จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 เท่าตัว หรือประมาณ 900,000 ตารางเมตรต่อปี


ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 1,295 ล้านบาท ทยอยรับรู้ภายในปี 2566 ประมาณ 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปี 2567 นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2566 บริษัทอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาจากลูกค้า 3 ราย มูลค่ารวมประมาณ 200 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 2 ราย แนวสูง 1 ราย


ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 เติบโตได้ดี โดยรายได้รวมจะเติบโตสูงกว่าเป้าหมายที่ 35% ซึ่งเห็นการเติบโตทำนิวไฮแล้วตั้งแต่ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 316.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.52% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 48.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142.48% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเติบโตมากกว่าทั้งปี 2564 ที่มีรายได้รวม 312.44 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 31.80 ล้านบาท


นายชาคริต กล่าวด้วยว่า ผลประกอบการในปี 2566 จะเติบโตทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยได้วางเป้าหมายรายได้รวมจะเติบโตที่ประมาณ 10-15% จากปีก่อน พร้อมรักษาความสามารถการทำกำไรจากการดำเนินงาน จากกลยุทธ์มุ่งเน้นขยายฐานลูกค้า พร้อมเพิ่มกำลังการผลิต

About Kansuchaya Suvanakorn

ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจมาเกือบ 30 ปี

View all posts by Kansuchaya Suvanakorn →

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *