“พีดีเฮ้าส์” ปรับแผนลุยบริการครบวงจร ตั้งรับตลาดรับสร้างบ้านหดตัว

ธุรกิจรับสร้างบ้าน นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ภาพรวมชะลอตัวอย่างหนัก จากผลกระทบค่อนรอบด้านทั้งการระบาดโควิด-19 การเมือง และ เศรษฐกิจ โดยตลาดรวมกรุงเทพฯและปริมณฑล กำลังซื้อปรับตัวลดลงเฉลี่ย 25% โดยกลุ่มราคาบ้าน 2-5 ล้านบาท ปรับลดลงสูงถึง 40% ส่วนกลุ่มราคาบ้าน 5-10 ล้านบาท ลดลง 25% และกลุ่มราคาบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไป ลดลงราว 15% ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ จึงจะสามารถอยู่รอด

ลูกค้าใช้เวลาตัดสินใจสร้างบ้านนานขึ้นสูงสุด 2 ปี

พิศาล ธรรมวิเศษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจรับสร้างบ้าน บริษัท พีดี เฮาส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ฉายภาพว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี 2564 ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 63 จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบมาถึงภาพรวมของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้าที่ต้องการก่อสร้างบ้านชะลอการตัดสินใจออกไป แม้ว่ายังมีความต้องการใช้บริการรับสร้างบ้านอยู่มากในตลาดก็ตาม โดยพบว่าพฤติกรรมในการตัดสินใจใช้บริการรับสร้างบ้านใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจนานมากขึ้นจากปกติ 6 เดือนตอนนี้นานสุด 2 ปี สะท้อนภาพความไม่มั่นใจของลูกค้าในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาดี กระทบต่อมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในปี 2564 คาดว่าจะหดตัวลดลงอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท จากปี 2563 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท

ขณะที่คู่แข่งในตลาดรับสร้างบ้านได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากผู้ประกอบการรายใหม่ ที่เป็นกลุ่มผู้รับเหมารายย่อยและโบรกเกอร์ต่างเข้ามาแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำการตลาดและหาลูกค้า ซึ่งเน้นไปที่การให้บริการในกลุ่มลูกค้าที่สนไจสร้างบ้านระดับราคา 800,000-1,500,000 บาท โดยการเสนอราคาที่ต่ำกว่าตลาด ทำให้การแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น และทำให้ลูกค้าเกิดความสับสนด้านข้อมูล เพราะข้อแตกต่างและความไม่ชัดเจนของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านในสายตาผู้บริโภค ที่ทำให้เกิดความกังวลและไม่กล้าตัดสินใจใช้บริการ

“ธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 64 จะเป็นปีที่หนักพอสมควร เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคหรือมูลค่าตลาดที่ถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีปัจจัยบวกที่จะเข้ามาปลุกเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถอยู่รอดหรือมี จุดขายที่ชัดเจนเพื่อสร้างความได้เปรียบคู่แข่ง”

จัดกลุ่มธุรกิจ-ปรับโครงสร้างใหม่

สำหรับพีดีเฮ้าส์ได้ปรับกลยุทธ์ในปี 2564 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาด ได้เตรียมจัดกลุ่มธุรกิจและปรับโครงสร้างการจัดการใหม่ โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม หลัก ๆ คือ

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้าน โดย ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่/ผู้ลงทุน ประกอบด้วย บริษัทในเครือ 14 บริษัท อาทิ ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป (ชลบุรี), ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป (พิษณุโลก), ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป (นครราชสีมา) ฯลฯ ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านภายใต้ชื่อ ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ หลังจากก่อนหน้านี้ ปทุมดีไซน์ฯ ได้เข้าไป Take over หรือร่วมลงทุนโดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กับแฟรนไชส์รับสร้างบ้านรายเดิม เพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้ภาวะตลาดที่กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงในปัจจุบัน รวมถึงสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนแฟรนไชส์รายใดที่แข็งแรงอยู่แล้วก็ช่วยพลักดันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มบริหารสิทธิ์ตราสินค้าและสนับสนุนธุรกิจรับสร้างบ้าน โดย ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่/ผู้ลงทุน ประกอบด้วย บริษัทในเครือ 3 บริษัท ได้แก่ “พีดี เฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ทำหน้าที่บริหารแบรนด์พีดีเฮ้าส์ให้เป็นที่รับรู้และยอมรับของผู้บริโภคยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ พัฒนาระบบการจัดการควบคู่กันไป

สำหรับ “พีดี สยามซัพพลาย แอนด์ เซอร์วิส” เป็นบริษัทในเครือที่มีภารกิจหลักคือ การสนับสนุนธุรกิจรับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ ได้แก่ การรวมคำสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง และการเจรจาต่อรองกับซัพพลายเออร์ เพื่อคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพและได้ต้นทุนที่ดีที่สุด และสุดท้าย “เฌอ-วาด อาคิเทค” ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบครบวงจร เป็นอีกหนึ่งอาวุธที่สำคัญ ในการหาลูกค้ากลุ่มใหม่ เช่น งานอินทีเรีย, งานแลนด์สเคป รองรับความต้องการของลูกค้าในยุคปัจจุบัน ที่มีความต้องการบ้านที่เฉพาะเจาะจง รวมไปถึงร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกแบบบ้านใหม่ ๆ

อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว ในปี 2564 พีดีเฮ้าส์ยังเน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่-พื้นที่ใหม่ รวมถึงทำการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมเน้นขอบเขตการให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อินทีเรีย จัดสวน สระว่ายน้ำ ตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ขยายสาขาเพิ่ม 4 แห่ง

นอกจากนี้ ยังได้วางแผนขยายสาขาใหม่ เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 3-4 สาขา ซึ่งในเบื้องต้นเตรียมขยาย 2 สาขาในไตรมาสแรกคือ สาขาจังหวัดพิจิตร และสาขาจังหวัดนครนายก และมีพื้นที่จังหวัดเป้าหมายที่สนใจอีกได้แก่ สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี, ราชบุรี และกรุงเทพมหานครโซนตะวันออก

ในส่วนเป้ายอดขายนั้นวางไว้ใกล้เคียงกับปี 2563 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1,000 ล้านบาท คาดว่าสามารถทำได้ใกล้เคียงหรืออาจต่ำกว่าเล็กน้อย โดยต้องรอลุ้นในช่วงไตรมาส 4 นี้ ซึ่งปกติถือว่าเป็นช่วงไฮซีซันของผู้บริโภคที่จะตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน

About Kansuchaya Suvanakorn

ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจมาเกือบ 30 ปี

View all posts by Kansuchaya Suvanakorn →

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *