ที่สุดแห่งความท้าทาย กับ 1 ปี “สามย่านมิตรทาวน์” ของโกลเด้นแลนด์

เจาะลึก 1 ปีแห่งความท้าทาย “สามย่านมิตรทาวน์” ที่มากกว่ารีเทลแห่งแรกของโกลเด้นแลนด์!!! จะทำอย่างไรเมื่อเทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว กลยุทธ์ที่ต้องเดินหน้า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่จางหาย

หลังการเปิดตัวศูนย์การค้ากลางเมือง “สามย่านมิตรทาวน์” มูลค่า 9,000 ล้านบาท ธุรกิจค้าปลีกแห่งแรกของ “โกลเด้นแลนด์” เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 ในเวลานั้น ถือว่าเป็นสร้างกระแสในแวดวงค้าปลีกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น กระแสของอุโมงค์ทางเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้า MRT สามย่าน ที่ถ้าใครยังไม่ได้มาถ่ายร่วมด้วยในเวลานั้นถือว่าเชย ไปจนถึง ตัวศูนย์การค้าเองที่มียอดผู้เข้าใช้บริการเกินกว่าที่ตั้งเป้าหมาย จาก 35,000 คน/วัน พุ่งขึ้นไปทะลุหลักแสนคนในช่วงวันเปิดตัว และกลับมาที่เฉลี่ย 75,000 คน/วัน

แต่เหมือนกับคำโบราณที่ว่าไว้ ไม่มีอะไรโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะบรรยากาศที่กำลังไปได้สวยของศูนย์การค้าน้องใหม่แห่งนี้ กลับต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยที่ไม่มีใครคาดถึง ด้วยการเจอกับวิกฤติโควิด-19 หลังเปิดให้บริการได้เพียง 5 เดือน นับเป็นจังหวะเวลาที่ค่อนข้างท้าทาย กับครั้งแรกของการทำรีเทลของโกลเด้นแลนด์ ที่มากกว่าแค่การทำรีเทลครั้งแรก แต่เป็นการทำรีเทลครั้งแรกที่ต้องเจอกับวิกฤติกใหญ่ ที่ก็ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่

“การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจรีเทลช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เท่าการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจรีเทลช่วง 3-4 เดือนที่เกิดโควิด-19 เลย”

ธีรนันท์ กรศรีทิพา

เป็นคำกล่าวของผู้บริหารธุรกิจรีเทลแห่งแรกของโกลเด้นแลนด์ ธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจรีเทลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

ด้วยเพราะศูนย์การค้าทุกแห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว ตามมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐอยู่ราว 2 เดือน เช่นเดียวกับศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ที่ปิดให้บริการชั่วคราว (ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้าน) ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และที่เลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ทราฟฟิก หรือผู้เข้ามาใช้บริการที่ลดลงเหลือ 18,000 คน/วัน จากทราฟฟิกเฉลี่ยในช่วงก่อนหน้านี้วิกฤติโควิด-19 ที่วันละ 75,000คน/วัน

6 เทรนด์พลิกโฉมค้าปลีกรับ New normal

ธีรนันท์ กล่าวว่า เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนต้องเปลี่ยนไปหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ “ค้าปลีก” ต้องปรับตัว จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเองและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New Normal และนี่คือ 6 เทรนด์ค้าปลีกยุคใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

  1. Un-orthodox Expansion ปกติเชนร้านค้าปลีกจะขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้น ปีละ 10-30 สาขาตามแต่ประเภทของธุรกิจ แต่หลังโควิด-19 บางธุรกิจลดสาขาลงจากผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่บางธุรกิจ ก็ขยายพื้นที่เพื่อให้บริการเดลิเวอรี่เพราะเห็นโอกาส การเปิดค้าปลีกในบางทำเลไม่เน้นคนเข้าร้าน โดยมุ่งไปที่บริการเดลิเวอรี่ จากพฤติกรรม New Normal ดังนั้นการขยายตัวของร้านค้าในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม
  2. Flash Promotion จากเดิมการจัดโปรโมชั่นของธุรกิจค้าปลีก แต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลายาว 7-14 วัน อาจไม่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อเร็วนักเพราะลูกค้าคิดว่ามีเวลาซื้อ ค้าปลีกในยุคใหม่จะปรับตัวเป็นรูปแบบ Flash Promotion ใช้ระยะสั้นๆ 1 วัน เช่น โปรโมชั่น ดับเบิ้ลเดย์ อย่าง 11.11 ที่กลายเป็นโปรโมชั่นระดับโลกของอีคอมเมิร์ซ ศูนย์การค้าก็เช่นกันต้องปรับตัวทำ Flash Promotion มากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อทันที และจะเป็นเทรนด์ให้เห็นมากขึ้นในอนาคต
  3. Partnership การทำงานกับพันธมิตรคู่ค้า ที่เดิมมองแต่เรื่องเงินลงทุน ดึงร้านค้าหรือแบรนด์ต่างๆ เข้ามาเปิดร้านค้าในศูนย์ฯ แต่ในยุคนี้ ต้องเน้น Collaboration ใช้จุดแข็ง หรือทรัพยากรของทั้ง 2 ฝ่ายมาสร้างประโยชน์ร่วมกัน การมือร่วมมือแบบนี้จะมากขึ้นในอนาคตข้างหน้า
  4. New Comer ช่วงโควิดผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้าน Work from Home สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีคนลุกขึ้นมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าจำนวนมาก พบว่ามีหลายคนที่ประสบความสำเร็จจากการขายออนไลน์ และเริ่มหาพื้นที่ออฟไลน์เปิดหน้าร้านขายสินค้า กลุ่มนี้จะเป็น New Comer มีโอกาสเข้ามาเปิดร้านในศูนย์ฯ ได้ในอนาคต
  5. Local Sufficient สถานการณ์โควิด ทำให้หลายประเทศยังปิดน่านฟ้ารวมทั้งประเทศไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด กำลังซื้อในธุรกิจต่างๆ ที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงกระทบหนัก จึงต้องหันมาพึ่งตลาดในประเทศ เช่น โรงแรมในกรุงเทพฯ จัดแพ็คเกจ Staycation ฝั่งรีเทลเองก็ต้องเน้นการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงกำลังซื้อในประเทศ
  6. Brick and Mortar ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้ายังคงสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างจากช่องทางออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจรีเทลช่วง 20 ปีที่ผ่านมายังไม่เท่ากับการเปลี่ยนแปลงช่วง 3-4 เดือนที่เกิดโควิด แม้จะเกิดกระแส Disruption ต่างๆ แต่ศูนย์การค้า หรือ ห้างสรรพสินค้า ยังเป็นจุดหมายในการพบปะของผู้คน สินค้าและบริการบางอย่าง ยังสร้างประสบการณ์ ณ จุดขาย ได้แตกต่างจากโลกออนไลน์ โดยเฉพาะร้านอาหารและแฟชั่นเสื้อผ้า แต่สิ่งที่จะเห็นมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีก คือเชื่อมช่องทางขาย Omni Channel ทั้งออฟไลน์และออนไลน์มากขึ้น

กลยุทธ์หลังครบรอบ 1 ปี ท่ามกลางโควิด-19 ที่ยังไม่จางหาย

ผ่านการครบรอบ 1 ปีมาหมาดๆ ในวันที่ 20 กันยายน 2563 คงได้เห็นภาพการกลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง ท่ามกลางความท้าทายของวิกฤติโควิด-19 ที่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญ คือ การก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกับจูงมือพาร์ทเนอร์ร้านค้าเดินไปด้วยกัน ฝ่าคลื่นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และเทรนด์ค้าปลีกยุคใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

แต่ท่ามกลางธุรกิจค้าปลีกย่านใจกลางเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติ “สามย่านมิตรทาวน์” ถือว่ายังโชคดีเพราะเป็นศูนย์การค้าเปิดใหม่ที่ยังไม่ได้เริ่มทำตลาดกับกลุ่มต่างชาติ ที่ผ่านมาจึงมีลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ที่ 4% เท่านั้น ส่วนฐานลูกค้าหลักคือ คนทำงาน 63% นักเรียน-นักศึกษา 27% กลุ่มสูงวัยและครอบครัว 6%

ธีรนันท์ กล่าวว่า ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้สามย่านมิตรทาวน์ ฟื้นเร็วลูกค้ากลับมาแล้ว 80% โดยช่วงเปิดตัวสามย่านมิตรทาวน์ เดือนกันยายน 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการวันละ 75,000 คน ช่วงโควิด-19 ระบาดและมีมาตรการล็อกดาวน์เดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 มีผู้ใช้บริการวันละ 18,000 คน (ส่วนหนึ่งเป็น Food Delivery Service) หลังปลดล็อกดาวน์ เดือนมิถุนายน – กันยายน 2563 ลูกค้าเข้ามาวันละ 60,000 คน หรือ 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19

ขณะที่ร้านค้าผู้เช่าก็เติบโตขึ้นถึง 97% เกือบเต็มพื้นที่ของศูนย์การค้า โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 240 ร้านค้า แบ่งเป็นอาหารอยู่ที่ 37% การศึกษาและความรู้ที่ 30% ซูเปอร์มาร์เก็ต 17% แฟชั่น บิวตี้ อยู่ที่ 11% และความบันเทิงอยู่ที่ 5%

กลยุทธ์สำคัญที่จะทำต่อไปว่า จะเน้นการสร้างอีเว้นต์ที่เป็นซิกเนเจอร์ของห้างให้มากขึ้น มีการทำงานร่วมกับพาทเนอร์ เพื่อจัดกิจกรรมหรือสิ่งที่จะดึงดูดให้คนมามีส่วมร่วมมากขึ้น โดยการจัดอีเวนท์ตลอดปีจำนวน 130 อีเวนท์ เรียกว่าจัดกันทุก 2-3 วัน เป็นกิจกรรมที่สามารถดึงคนมาที่สามยานมิตรทาวน์ได้ และมี Signature Events งานลานนม การเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าจากมาร์เก็ตเพลสและคอมมูนิตี้ในออนไลน์ มาขายออฟไลน์

5 ปัจจัยฟื้นตัวเร็ว ไม่เจ็บหนัก

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ สามย่านมิตรทาวน์ กลับมาฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้เร็ว แบบไม่เจ็บหนักมากนัก มาจาก 5 จุดขายที่แตกต่างกับศูนย์การค้าอื่นๆ

  1. Place Making Space การเปิดพื้นที่ส่วนกลางให้ลูกค้าและผู้มาใช้บริการได้ใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรม นอกจากการช้อปปิ้ง เพราะโจทย์ที่ว่างไว้ตั้งแต่ต้นต้องการเปิดพื้นที่ตอบแทนสังคม ให้คนใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น Co-op เป็นฟังก์ชั่นที่แตกต่างจากศูนย์ฯ อื่นๆ จึงมีนักเรียน นักศึกษา เข้ามาใช้บริการในจำนวนมาก
  2. MRT Direct Link ที่ใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท สร้างอุโมงค์เชื่อมต่อกับ MRT ทำให้มีความได้เทียบทางการแข่งขันจากการเดินทางที่สะดวก ช่วง 1 ปี มีคนเดินผ่านอุโมงค์ 2 ล้านคน กลายเป็น Destination และแลนด์มาร์ค จุดเช็คอินใหม่ของชาวโซเชียล และการเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย MRT ช่วงบางซื่อ-หลักสอง ทำให้ลูกค้าเดินทางมาศูนย์ฯ เพิ่มขึ้น
  3. Smart Design การออกแบบสถาปัตยกรรมโครงการสามย่านมิตรทาวน์ ได้มีการให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีในการก่อสร้าง ควบคู่ไปกับการเลือกใช้ วัสดุที่ทันสมัยแต่เรียบง่าย และคงความดั้งเดิมของพื้นที่ (Context) เพื่อให้เกิดความทรงจำที่ดี (Sense of Place) ทำให้ผู้ใช้บริการเดินได้อย่างสะดวก
  4. Community Partnership ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ได้เปิดมาร์เก็ตเพลส ค้าขายบนโลกออนไลน์ มาเปิดพื้นที่ขายสินค้าที่สามย่านมิตรทาวน์ เช่น งานรวมมิตรศิษย์จุฬาฯ (Mitr Marketplace for CU) มิตรนางฟ้า (ร่วมกับการบินไทย) ตลาดรวมมิตร ศิษย์ปทุมวัน เป็นต้น ก็พบว่ามีร้านค้าออนไลน์ที่พัฒนาสินค้าได้ดี และมีโอกาสเข้ามาเช่าพื้นที่เปิดหน้าร้านในศูนย์ฯ ได้ในอนาคต
  5. Flexibility การสร้างจุดขายเปิดบริการโซน 24 ชั่วโมง นำโดยโคเลิร์นนิ่งสเปซ ซูเปอร์มาร์เก็ต อีสปอร์ต ร้านอาหาร และร้านคาเฟ่

ทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาสเสมอ หากแต่ละราย แต่ธุรกิจพร้อมปรับตัวให้ทันจังหวะการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค หนทางรอด ย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

About Kansuchaya Suvanakorn

ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจมาเกือบ 30 ปี

View all posts by Kansuchaya Suvanakorn →

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *