ถอดรหัส 4 นวัตกรรม “บ้านเดี่ยว” เอพี สร้างไม่ทันขาย

ปีนี้นับเป็นปีแห่งการลงทุนตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ หนึ่งในสมรภูมิแห่งความหวังของรายได้ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้เลยก็ว่าได้ จะเห็นรายใหญ่เกือบทุกค่าย หันมาเน้นเปิดโครงการบ้านเดี่ยวกับทาวน์เฮ้าส์แทนการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม เพราะการลงทุนโครงการแนวราบ นอกจาก Read demand ที่ยังพอมีอยู่ ยังได้กระแสของ New Normal มาช่วยขับเคลื่อนตลาดให้พอเดินต่อไปได้

ขณะที่ความเสี่ยงการเปิดโครงการในสถานการณ์ไม่ปกติ น้อยกว่าอย่างมาก เมื่อเทียบการพัฒนาคอนโดมิเนียมต้องนั่งลุ้นตลอดเวลาโครงการจะสร้างเสร็จหรือไม่ เพราะใช้ระยะเวลายาวนานกว่า

เช่นเดียวกับ “เอพี ไทยแลนด์” อสังหาฯระดับบิ๊กเนม ที่ปีนี้หันมาเน้นเปิดบ้านเดี่ยวกับทาวน์เฮ้าส์ โดยกลุ่มบ้านเดี่ยว มีการเปิดตัว 18 โครงการ มูลค่ารวม 20,430 ล้านบาท มากว่าปีก่อนถึง 140% สูงที่สุดที่บริษัทเคยเปิดมา

ปัจจุบันเปิดตัวไปแล้ว 16 โครงการ เหลืออีก 2 โครงการที่จะเริ่มพรีเซลเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ The City บรมราชชนนี-ทวีวัฒนา และอีกหนึ่งโครงการไฮเอนด์ย่านสาธุประดิษฐ์ 1

“บ้านที่เข้าใจชีวิต” คีย์ไดรฟ์ครองแชร์ขายมากสุด

เมื่อย้อนกลับไปบนเส้นทางการเริ่มธุรกิจบ้านเดี่ยว  “รัชต์ชยุตม์ นันทโชติโสภณ” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มสินค้าบ้านเดี่ยว บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) คีย์แมนคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจบ้านเดี่ยว เล่าว่า เอพี ไทยแลนด์ เริ่มต้นธุรกิจพัฒนาบ้านเดี่ยวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2547 กว่า 15 ปีของการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง วันนี้บริษัทฯ พัฒนาบ้านเดี่ยวมาแล้วกว่า 80 โครงการ มูลค่าเกือบ 100,000 ล้านบาท กับแบบบ้านที่มีมากกว่า 50 โมเดล ส่งผลให้วันนี้กลุ่มธุรกิจบ้านเดี่ยวเอพีเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากรายได้หลักพันล้านสู่หลักหมื่นล้านในปี 2562 ที่มากถึง 10,227 ล้านบาท

รัชต์ชยุตม์ นันทโชติโสภณ

พร้อมกันนี้ เอพียังถือครองส่วนแบ่งตลาด (Market Share) มากสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนยูนิตที่ขายได้มากสุดในตลาดบ้านเดี่ยวในเมืองและปริมณฑล (รอบปี 2015-1H 2020) กับจุดขาย  ‘บ้านเดี่ยวเอพี คือ บ้านที่เข้าใจชีวิต’ ซึ่งถือเป็นคีย์ไดรฟ์สำคัญที่ส่งผลให้บ้านเดี่ยวเอพีประสบความสำเร็จในวันนี้และในอนาคต ผ่าน 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ คือ Centro ราคา 4.5-12 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60%  The City ราคา 10-25 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30%  และ The Palazzo ราคา 25 ล้านบาทขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 10%

โดยกลุ่มที่ขายดี คือ บ้านกลุ่มราคา 5-10 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้แบรนด์ Centro เป็นบ้านบนที่ดินขนาด 50-70 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 175 ตร.ม. ฟังก์ชัน 3-4 ห้องนอน ดีไซน์สไตล์โมเดิร์น

ปัจจุบันยอดขายของสินค้าแนวราบเอพีทั้งหมด รวมทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ทำยอดขายไปแล้ว 18,400 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 วางเป้าทั้งปีไว้ที่ 22,500 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามเป้า จะเติบโตขึ้นจากปีก่อน 41%

รัชต์ชยุตม์ มองว่าแนวโน้มการขายจนถึงไตรมาส 4 น่าจะเป็นไปได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากโมเมนตัมการขายยังดีอยู่ วัดจากช่วงเสาร์-อาทิตย์ 12-13 ก.ย. 63 บริษัทมีการเปิดตัวพร้อมกัน 6 โครงการ สามารถทำยอดขายรวม 1,000 ล้านบาทได้ภายใน 2 วันดังกล่าว  แม้ว่าซัพพลายในตลาดจะมีมากเพราะผู้เล่นรายใหญ่หลายรายต่างหันมาทำโครงการแนวราบในปีนี้ แต่เชื่อว่าดีมานด์ในตลาดยังดูดซับได้

ดีไซน์ตอบโจทย์รายทำเล

กลยุทธ์สำคัญทำให้บ้านเอพีมีความแตกต่าง และทำให้ขายได้นั้น “พิมพรรณ ปรีชานนท์” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริหารแบรนด์ และพัฒนาสินค้าบ้านเดี่ยวของเอพี อธิบายว่า เกิดจากกลยุทธ์การออกแบบสินค้าของบริษัทจะไม่มีการใช้โมเดลเดียวแล้วสร้างเหมือนๆ กันทุกโครงการ ต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายของทำเลนั้นๆ ว่าเป็นใคร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน ต้องการอะไร ราคาเท่าไหร่ถึงตอบโจทย์ แล้วถอดรหัสออกมาถึงความต้องการในการใช้พื้นที่จริงๆของบ้านหลังหนึ่ง ที่มีทั้งเพศ วัย ไลฟ์สไตล์ ความต้องการพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่ส่วนรวมภายในบ้าน มีรายละเอียดที่การออกแบบจะต้องเข้าไปตอบโจทย์ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตรงใจ

“ไม่ใช่โมเดลเดียวจะตรงใจได้กับทุกคน เราไม่เคยหยุดพัฒนาสินค้า ทุกปีจะมีซีรีย์ใหม่ออกมา แม้แต่มุมมองต่อ คลับเฮ้าส์ ส่วนกลางเปลี่ยนไปตลอด ทุกปีจะมีการออกโปรดักส์ใหม่ ความพฤติกรรมความต้องการลูกค้าในยุคนี้เปลี่ยนไปเร็ว เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น จุดนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บ้านเอพีแตกต่างจากคู่แข่ง”

ยกตัวอย่างคนอาศัยอยู่ในย่านศรีนครินทร์ ไลฟ์สไตล์ยังมีความใกล้เมือง ชอบแฮงก์เอาต์นอกบ้าน แต่ถ้าเป็นคนย่านปิ่นเกล้า-บรมราชชนนี ผู้ซื้อมักจะเป็นเจ้าของธุรกิจ SMEs อยู่ติดบ้าน ต้องการพื้นที่ในบ้านสูงกว่า ทุกตารางเมตรของบ้านจะต้องใช้สอยประโยชน์ได้เต็มที่

“ในปัจจุบันความท้าทายของการพัฒนาสินค้าบ้านเดี่ยวมาถึงจุดที่ยกระดับไปมากกว่า เรื่องของทำเลที่ตั้ง และเรื่องของฟังก์ชันการใช้งาน หัวใจของการออกแบบพัฒนาโครงการในวันนี้และในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่แบรนด์ต้องกลับมาทำการบ้านในการออกแบบพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการเข้าใจอินไซต์ของการใช้พื้นที่ที่แตกต่างกันของทุกสมาชิกในครอบครัว”

ชูคอนเซ็ปต์ HYBRID LIVING 4 นวัตกรรม

นอกจากการดีไซน์แล้ว เอพีจะเสริมด้วยนวัตกรรมที่ “ใช้ได้จริง” ผสานเทคโนโลยีเข้ากับการอยู่อาศัย แนวคิด นวัตกรรมบ้านที่เข้าใจการใช้ชีวิตแบบไฮบริดผ่าน 4 จุดขายสำคัญ

  1. Cost-saving – นวัตกรรมเพื่อส่วนรวมกับพื้นที่ส่วนกลางที่รองรับการทำกิจกรรมแบบของคนทุกวัย โดยไม่ต้องกังวลถึงค่าใช้จ่าย ด้วยคลับเฮ้าส์พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power system) ทำงานผ่านระบบโซล่าเซลล์ที่อยู่ในส่วนบนของหลังคาคลับเฮ้าส์ ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 30% แม้จะไม่ใช่จุดหลักในการปิดการขาย แต่เป็นการลงทุนเพื่อให้การอยู่อาศัยจริงหลังขายสะดวกสบายขึ้น ประหยัดขึ้น โดยเริ่มลงทุนในโครงการบ้านเดี่ยวของบริษัททุกแห่งมาแล้ว 2 ปี
  2. Security – นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยกับระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะภายในบ้าน ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว แจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน พร้อมส่งเสียงไซเรนเตือนผู้บุกรุก กล้อง IP Camera ที่สามารถ Live Stream ภาพ เพื่อดูแลทุกสมาชิกครอบครัว
  3. Comfort –  นวัตกรรมเพื่อความสะดวกสบายกับระบบสั่งการอัจฉริยะ Smart Home Gateway และ Security Module ภายในบ้านผ่านการเชื่อมต่อกับ ระบบควบคุมไฟแสงสว่าง (Lighting Control) ที่ทำงานควบคู่กับระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว (Motion Sensor) ดูแลสนามหญ้า หรือการควบคุมเครื่องปรับอากาศไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกบ้าน
  4. Community – นวัตกรรมที่ดูแลคอมมูนิตี้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชั่น Katsan ทำงานร่วมกับกล้องสแกนทะเบียนรถ ใช้วิธีระบุทะเบียนรถไว้ในแอปฯ เพื่อเข้า-ออกไม้กั้นแทนการใช้คีย์การ์ด และยังเพิ่มทะเบียนรถที่อนุญาตให้เข้า-ออก ภายในโครงการและตัวบ้าน

นอกจากนี้ เอพีกำลังศึกษานวัตกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป แต่แกนหลักคือต้องเป็นนวัตกรรมที่คุ้มค่า หากต้นทุนสูงเกินไปก็อาจจะยังไม่ถึงจุดที่เหมาะที่จะนำมาใช้ โดยนวัตกรรมที่ลูกบ้านมักจะต้องการที่สุดคือสิ่งที่ “ช่วยลดค่าใช้จ่าย” โดยหนึ่งในตัวอย่างที่เอพีกำลังศึกษาขณะนี้คือเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ

About Kansuchaya Suvanakorn

ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจมาเกือบ 30 ปี

View all posts by Kansuchaya Suvanakorn →

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *